นครเชียงตุง เป็นเมืองแห่งหนึ่งของรัฐฉาน ตั้งอยู่ละติจูดที่ 21 องศา 17 ลิปดา 48 ฟิลิปดาเหนือ และลองติจูดที่ 99 องศา 40 ลิปดาตะวันออก ความสูง 2,700 ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล ภูมิประเทศของเชียงตุงเป็นแอ่งก้นกระทะ อยู่ระหว่างแม่น้ำสำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำสาละวินทางตะวันตกและแม่น้ำโขงทางตะวันออก อาณาเขตทางเหนือติดต่อกับสิบสองปันนา ทางใต้ติดต่อกับล้านนา |
|
เมืองแห่ง 3 จอม 7 เชียง 9 หนอง 12 ประตู
เชียงตุงได้รับสมญานามว่า เมืองแห่ง 3 จอม 7 เชียง 9 หนอง 12 ประตู อันมีรายละเอียดเกี่ยวกับสมญานามดังกล่าว ดังนี้
เมืองแห่ง 3 จอม จอม หมายถึง เนินเขา เชียงตุงมีจอมจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ จอมทอง (จอมคำ) อันเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุจอมคำ จอมมน อันเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุจอมมน และจอมสัก อันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวเขาอีก้อ (อาข่า)
เมืองแห่ง 7 เชียง เชียง หมายถึง บ้าน ชื่อหมู่บ้านในเชียงตุงที่ขึ้นด้วยเชียงมีจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ เชียงงาม เชียงจัน เชียงลาน เชียงขุ่ม เชียงอิง เชียงยืน และเชียงจิน
เมืองแห่ง 9 หนอง หนอง หมายถึง หนองน้ำ ในเชียงตุงมีหนองน้ำ จำนวน 9 หนอง ได้แก่ หนองตุง หนองโตง หนองเย หนองแล้ง หนองยาง หนองโป่ง หนองเข้ หนองไค้ และหนองตาช้าง |
|
ข้อมูลจากตำนานและประวัติศาสตร์บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า เชียงตุง กับล้านนามีความเกี่ยวเนื่องผูกพันกันอย่างใกล้ชิดจนแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ ทั้งนี้เพราะ ผู้ทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนา และ เขมรัฐนครเชียงตุงขึ้นมา เป็นบุคคลเดียวกันคือพระญามังราย การที่ล้านนากับเชียงตุงมีต้นกำเนิดเดียวกันยังผลให้ศิลปวัฒนธรรมรวมถึงความเป็นอยู่ ตลอดจนลักษณะนิสัยของชาวไทเขินชนกลุ่มใหญ่ของเชียงตุง กับชาวไทยยวนของล้านนามีความคล้ายคลึงกัน |
|
ศึกเชียงตุง - เชียงใหม่ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2393 |
เชียงใหม่เป็นประเทศราชของไทย เชียงตุงก็เป็นประเทศราชของพม่า แม่ว่าไทยกับพม่าจะบาดหมางกัน แต่ต่างฝ่ายก็มีนโยบายต่อประเทศราชเหมือนกัน เชียงใหม่กับเชียงตุงครั้งแรกในสมัยมหาขนานเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุง ส่วนทางเชียงใหม่เป็นเจ้าพุทธวงษ์ ตรงกับไทยในสมัย รัชกาลที่ 3 จึงทรงส่งพระยาอุปราชพิมพิสารแห่งเชียงใหม่เป็นแม่ทัพยกทัพไปตีเชียงตุง จนลูกชายเจ้าขนานแห่งเชียงตุงเสียชีวิตในสนามรบ แต่ก็ไม่ชนะเชียงตุง |
|
ศึกเชียงตุง - เชียงใหม่ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2395 |
สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงตัดสินใจทำสงครามกับเชียงตุงเพื่อพระเกียรติยศ และตัวอย่างแก่ประเทศราชทางภาคเหนือ ทรงแต่งตั้งกรมหลวงวาศาธิราชสนิทเป็นแม่ทัพใหญ่ ยกไพร่พลไปรวมกันที่เชียงแสน แต่ทางเชียงใหม่ก็ไม่เต็มใจร่วมรบกับเชียงตุง ทำให้ศึกครั้งนี้ไม่สามารถชนะได้ |
|
ศึกเชียงตุง - เชียงใหม่ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2397 |
สมัยรัชกาลที่ 4 กรมหลวงวงศาธิราชสนิทตั้งกองทัพที่น่าน ได้แจ้งว่าการรบชนะเชียงตุงให้ชนะนั้นต้องจำนวนพล 3-4 หมื่นคน ต้องมีอาวุธที่ทันสมัย แต่ในที่สุดก็ไม่ชนะเชียงตุงได้ เนื่องจากเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ต่อมาอังกฤษเข้าปกครองเชียงตุง พ.ศ. 2433 โดยยอมรับอำนาจธรรมเนียมตามประเพณีของเจ้าฟ้า |
|
เชียงตุงภายใต้การปกครองของรัฐบาลไทย |
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยลงนามสนธิสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่น ทำให้ต้องประเทศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา กองทัพไทยภายใต้การนำของพลตรีผิน ชุณหวัณรับหน้าที่ตีเมืองเชียงตุงได้วันที่ 26 พฤษภาคม 2485 โดยให้เชียงตุงเป็นจังหวัด สหรัฐไทยเดิมแล้วได้เชิญ เจ้าเมืองเหล็กพรหมลือ โอรสเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง กับเจ้าแม่ปทุมเทวี ขึ้นมาปกครองเชียงตุง แล้วให้พลตรีผิน ชุณหะวัณ เป็นข้าหลวงใหญ่สหรัฐไทยเดิม เพื่อดูแลความสงบ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2486-2488 รวม 3 ปี มีการตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทย มีสถานกงสุลไทย |
|
เชียงตุงในยุคปัจจุบัน |
|
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ไทยต้องคืนเชียงตุงให้แก่สหประชาชาติ และอังกฤษก็เข้าไปมีบทบาทต่อพม่าและเชียงตุง พ.ศ. 2505 นายพลเนวิน ผู้นำพม่าได้ทำการรัฐประหารยกเลิกระบบเจ้าฟ้าแล้วจับกุมเจ้าฟ้าชายหลวงกษัตริย์เชียงตุง และเจ้าฟ้าองค์อื่นๆ มาคุมขังซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบเผด็จการของพม่าได้ทำลายสถาบันเจ้าฟ้าไทในรัฐฉานอย่างสิ้นเชิง หอหลวงหรือหอคำซึ่งเปรียบเหมือนพระราชวังของเจ้าฟ้าต่างๆ ที่มีศิลปะเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทย ส่วนหอคำของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง ผู้ครองเมืองเชียงตุง สร้างตามแบบอย่างสถาปัตยกรรมของอังกฤษเมื่อ 100 กว่าปี ก็ถูกทุบทิ้งด้วยซึ่งขณะนั้นมีอายุ 97 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการใช้สถานที่เพื่อสร้างโรงแรมพัฒนาเมืองเชียงตุงให้ประชาชนมีรายได้ และมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แล้วใช้ระบบสังคมนิยมปกครองแล้วเชียงตุงก็ถูกสั่งปิดประเทศในปี 2506 |
|
เชียงตุงเมืองพุทธศาสนา |
|
ลัวะผู้ปกครองเมืองเชียงตุงได้รับศีลห้าจากพระพุทธเจ้า ต่อมาพระญามังรายรบชนะได้ส่งเชื้อพระวงศ์ ไปปกครองทาวผายูแห่งเชียงใหม่ส่งเจ้าเจ็ดพันตูราชบุตร ไปปกครองเชียงตุงปี 1882 ได้นำพระมหาเถระ 4 องค์ และพระพุทธศาสนานิกาย หินยานกวง จากวัดสวนดอกเชียงใหม่ไปเผยแพร่โดยสร้างวัด 4 วัดถวาย ได้แก่
1. วัดพระแก้วถวายพระธรรมลังกา
2. วัดหัวข่วงถวาย พระธรรมไตรโลก
3. วัดพระกลางถวายพระทสสปัญโญ
4. วัดจอมทองถวายพระหงสาวดี
พ.ศ. 1989 พระยาสิริธัมมุจุฬา เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงได้สร้างวัดป่าแดงถวาย นิกายหินป่าแดงต่อมาเกิดการทะเลาะกันระหว่าง 2 นิกาย คือ นิกายหินยางกวง (ดั้งเดิม) กับ นิกายหินป่าแดง (ใหม่) พระเมืองแก้วกษัตริยแห่งเมืองเชียงใหม่ สามารถประณีประนอมได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2052 และขอให้เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงอุปถัมภ์พระสงฆ์ทั้งสองนิกายไว้ เชียงตุงเป็นเมืองพระพุทธศาสนาได้รับสมญาว่าเป็นเมืองร้อยวัด เฉพาะในตัวเมืองมี 44 วัด (วัดไทเขิน 33 วัด) วัดม่าน 1 วัด (พม่า) วัดไท 10 วัด (ไทยใหญ่ผสมพม่า) ซึ่งมีความงดงามทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่งดงามจากการผสมผสานศิลปะล้านนา ไทยรัฐฉาน และพม่าเข้าด้วยกัน |
|
วัดพระธาตุจอมคำ |
มีพระธาตุทำด้วยทองคำแท้สูง 226 ฟุต ประดับด้วยพลอย 882 เม็ด มีจิตรกรรมฝาผนังวรรณกรรมเรื่อง มหาชาติและสุชวัณณะวัวหลวง ที่ปิดทองลงรักงดงามนัก |
|
วัดพระแก้ว |
เป็นวัดเอกเนื่องจากเป็นวัดเจ้าฟ้า มีวิหารที่งดงามหลังคาซ้อนเป็นชั้น มณฑปมีเครื่องยอดทรงพระธาตุ มีหลังคา 9 ชั้น ทรงกรวยแหลม มีฉัตรประดับที่สุดของหลังคาลวดลายทั้งหมดเลียนแบบขนมปังขิง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะพม่ากับไทรัฐฉาน และอิทธิพลสกุลศิลปะพุกามตอนปลาย ผสมมัณฑะเลย์ (ฐานซ้อนเป็นชั้นองระฆังครึ่งวงกลม ปล้องไฉนทรงพีระมิด ปลียอดประดับด้วยฉัตร) สร้างขึ้น พ.ศ. 2465 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2470 รวม 5 ปี โดยเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลงซึ่งเป็นเจ้าฟ้าชาวไทเขินแห่งเมืองเชียงตุง |
|
วัดมหาเมี๊ยะมุณี หรือ วัดมหายัตมุนี |
พระวิหารรูปทรงจัตุรมุข 4 ด้าน หลังคา 9 ชั้น ปลียอดบนสุดประดับด้วยฉัตรศิลปะพม่าอันแสดงถึงเกียรติยศแห่งราชสำนักกษัตริย์พม่า หลังคาศิลาศิลปะมัณฑะเลย์ มีพระพุทธรูปประทับนั่งแบบเตงเบงกาวรุ่น 1 สร้างขึ้นปี พ.ศ. 2463 โดยเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลงแห่งเมืองเชียงตุง |
|
วัดราชฐานหลวงหัวข่วง พระอารามหลวง |
ตกแต่งวิหารด้วยตุง ช่างม้าไม้ พานดอกไม้ที่วิจิตรบรรจงแบบไทสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ คือ พระสถูปเจดีย์พาโกดา ศิลปะสกุลช่างปลายพุกามผสมศิลปมัณฑะเลย์ ภายในวิหารมีการตกแต่งงดงามมาก |
|
วัดป่าแดง |
ผูกพันใกล้ชิดกับวัดป่าแดงในเรื่องนิกายของเชียงใหม่ มีศิลาจารึกและหอธรรมบรรจุตำนานและคัมภีร์ต่างๆ วิหารขนาดใหญ่ศิลปะมัณฑะเลย์ผสมไทยใหญ่พื้นเมือง |
|
วัดราชฐานหลวงเชียงยืน พระอารามหลวง |
ภายในวิหารลงรักปิดทองด้วยลวด ลายอันวิจิตรบรรจง เสาของวิหารหน้ากว้าง 3 ฟุต งดงามใหญ่กว่าเสาวิหารของวัดอื่นๆ |
|
วัดเหม้า |
มีรูน้ำหยาด (กรวดน้ำ) บริเวณด้านล่างของอาสนะสงฆ์ให้ชาวบ้านได้หยาดน้ำ(กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล) หมายมานให้แม่ธรณีรับรู้การให้ทาน |
|
วัฒนธรรมประเพณี |
|
ชาวเชียงตุงมีความเชื่อว่าการร่วมศาสนกิจในรูปแบบพิธีกรรมต่างๆ จะนำมาซึ่งสวัสดิมงคลทั้งส่วนตนและครอบครัว ความเชื่อนี้นำไปสู่การร่วมกิจกรรมทางศาสนาอย่างพร้อมเพรียงกัน และสมานสามัคคีช่วยซึ่งกันและกัน ประเพณีต่างๆ เช่น
- ประเพณีทาน (ถวาย) น้ำอ้อยของหนุ่มสาวและพ่อเรือนแม่เรือนที่ถือว่าเป็นประเพณีสำคัญของชีวิตคู่
- การจิต้นแปก (จุดต้นเกี๊ยะหรือต้นสน) เป็นการจุดต้นเกี๊ยะเป็นพุทธบูชา
- การจิไฟก๊อกพัน เป็นการจุดโคมไฟเป็นพุทธบูชา
- ปล่อยกุมไฟ (โคมไฟ) โคมไฟขนาดใหญ่ทำด้วยกระดาษสาตั้งแต่ 400 - 500 แผ่น พร้อมอ่านซอกุ่มไฟ
- ประเพณีการตั้งธรรม คือ ประเพณีเทศน์มหาชาติ
- การแถบกลอง ประเพณีการแขวนกลอง ประเพณีการทานกองทราย (ถวายกองทราย)
ภาษาและวรรณกรรม
ชาวไทเขินยังคงใช้อักษรไทเขิน พระสงฆ์ก็ใช้อักษรไทเขินลงใบลาน หรือพับสา ถือว่าเป็นภาษาที่ 1 สำหรับชาวไทเขินทั้งภาษาเขียนและภาษาพูด ซึ่งอาจจะมีศัพท์เฉพาะของไทยใหญ่ปะปนด้วยที่น่าชื่นชมก็คือคัมภีร์ของเชียงตุงยังคงเป็นคัมภีร์ที่จารึกด้วยเหล็กจาร |
|
การแต่งกายชาวเชียงตุง |
|
ผู้ชายนิยมนุ่งกางเกงขากว้าง สวมเสื้อแขนยาวสั้นแบบพม่า โพกหัวด้วยผ้าทิ้งชายตั้งขึ้นด้านบน ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อปั๊ด เกล้าผมไว้กลางหัวเคียนด้วยผ้า คนหนุ่มสาวปัจจุบันนิยมแต่งกายตามสบายใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ ส่วนการทอผ้าของเชียงตุง ไทลื้อ ไทเขิน ถือว่าเป็นเลิศนักเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เมืองเชียงตุงจะมีสินค้าของจีนแดงเข้ามาวางขายรวมกับสินค้าท้องถิ่น ที่ใช้ในชีวิตประจำวันมากมาย ส่วนสภาพบ้าน เรือนนิยมสร้างบ้านเป็นบ้านชั้นเดียว นิยมสร้างกาแล หรือแปพ๊ะ เพื่อความศิริมงคง และภูมิปัญญาของชาวเชียงตุงที่น่าชื่นชม คือ ระบบการรักษาความปลอดภัยจากไฟไหม้ ทุกบ้านจะมีไม้ดับเพลิงซึ่งใช้ตีให้ไฟดับร่วมกับการใช้น้ำสาดตั้งไว้หน้าบ้านทุกหลัง |